หน้าแรก คู่มือการใช้งาน ผังครอบครัว เหตุการณ์สำคัญ ผู้ดูแลผังครอบครัว เทคนิคการแต่งภาพผู้ทำเว็บ



ผู้ทำเว็บ

คุณพ่อผมเป็นจีนแต้จิ๋ว เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเมื่อพ.ศ.2489 คุณพ่อเดินทางมาประเทศไทยเพียงคนเดียว ญาติพี่น้องยังคงอยู่ที่ประเทศจีน เมื่อคุณพ่อเสียชีวิต เนื่องจากญาติของคุณพ่ออยู่ที่ประเทศจีน จึงไม่มีญาติฝั่งคุณพ่อมางานศพ มีแต่ญาติฝั่งคุณแม่ ผมรู้ว่าญาติทุกคนที่อยู่ในงานศพเป็นญาติคุณแม่ แต่ผมแปลกใจที่รู้จักญาติเหล่านั้นน้อยมาก หลายคนไม่เคยเห็นหน้า บางคนเคยเห็นตอนเด็กแล้วไม่ได้เจอกันอีกเลย จำชื่อไม่ได้ ลำดับไม่ถูกว่าใครเป็นลูกหลานใคร หลายคนสามารถเรียกชื่อผม แต่ผมไม่รู้จักเขา ผมรู้สึกแย่มาก ทำไมผมไม่รู้จักญาติตัวเองทั้งที่พวกเราอาศัยอยู่ในจังหวัดเดียวกัน หรือจังหวัดใกล้เคียงกัน

ช่วงที่คุณพ่ออยู่ประเทศจีนเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ความยากจน ความอดอยากยากแค้นทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่นั่นลำบากมาก เท่าที่ฟังจากคุณพ่อเล่า คุณพ่อรู้เรื่องประเทศไทยจากคำบอกเล่าของคนที่เคยมาประเทศไทยแล้วตัดสินใจเดินทางมาประเทศไทยท่ามกลางเสียงคัดค้านของทุกคนในบ้าน


คุณพ่อเดินทางมาประเทศไทยเมื่ออายุ 24 ปี ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยจนถึงอายุ 93 ปี ชีวิต 24 ปีของคุณพ่อที่ประเทศจีนเป็นช่วงที่ผมสนใจเพราะอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่ผมไม่รู้เรื่องราวอะไรเกี่ยวกับชีวิตคุณพ่อในช่วงนั้นเลย น่าเสียดายที่เรื่องราวเหล่านั้นจากไปพร้อมกับชีวิตคุณพ่อ ถ้าคุณพ่อบันทึกเรื่องราวของตัวเองไว้ในอนุทิน (diary) ตั้งแต่วัยเด็กที่ประเทศจีน และบันทึกต่อเนื่องจนถึงบั้นปลายชีวิตในประเทศไทย จะได้อนุทินประวัติคุณพ่อที่สมบูรณ์ เพราะคุณพ่อเขียนด้วยตัวเอง ลูกหลานจะได้คำตอบของคำถามมากมายเกี่ยวกับชีวิตของคุณพ่อ เช่น
1) วัยเด็กของคุณพ่อที่เมืองจีนเป็นอย่างไร ?
2) สงครามโลกครั้งที่ 2 มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคุณพ่อที่เมืองจีนอย่างไร ?
3) คุณพ่อมั่นใจแค่ไหนกับการเดินทางมาประเทศไทยโดยลำพังท่ามกลางเสียงคัดค้านของทุกคนในบ้าน ?
4) เมื่อมาถึงเมืองไทยแล้วคุณพ่อเริ่มต้นอย่างไร ฯลฯ

คุณพ่อเป็นคนกลางที่เชื่อมครอบครัวทางฝั่งประเทศไทยกับครอบครัวทางฝั่งประเทศจีน เมื่อคุณพ่อเสีย ข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับญาติทางฝั่งประเทศจีนหายไปหมด ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวสองฝั่งดูเหมือนจะจากไปพร้อมกับคุณพ่อ

ปัจจุบันน้องชายผมแต่งงานและมีครอบครัวอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเป็นจุดเชื่อมระหว่างครอบครัวของเขาที่อเมริกาและครอบครัวของญาติที่น้องที่ประเทศไทย เครือญาติที่อยู่คนละประเทศพึ่งบุคคลคนเดียวทำหน้าที่เป็นตัวกลาง หากบุคคลนั้นจากไปความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติในสองประเทศจะสูญหายไปด้วย เรื่องราวของคุณพ่อกำลังจะเกิดกับน้องชายผม สองเหตุการณ์นี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผมสร้างเว็บแอพพลิเคชั่น www.BigFamilies.net เพื่อเป็นสื่อกลางแทนตัวบุคคลที่ทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ของเครือญาติ แม้ว่าคนรุ่นหนึ่งจะจากไป แต่สื่อกลางนี้จะคงอยู่เพื่อทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ของทายาทที่เกิดใหม่ให้คงอยู่ตลอดไป

เว็บแอพพลิเคชั่น www.BigFamilies.net ถูกสร้างขึ้นเพื่อเก็บผังเครือญาติและข้อมูลของสมาชิกทุกคน ผมตั้งใจสร้างที่นี่ให้เป็นเสมือนห้องสมุดของครอบครัว ที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวสามารถเข้ามาศึกษาทำความรู้จักบุคคลในเครือญาติของตน แม้ว่าแต่ละคนจะอยู่คนละจังหวัด หรือคนละประเทศ ไม่ได้ไปมาหาสู่กัน ไม่มีโอกาสได้พบหน้ากัน แต่ทุกคนสามารถทำความรู้จักกันผ่านผังเครือญาติ และเรื่องราวที่สมาชิกในผังเครือญาติบันทึกไว้ในอนุทินของแต่ละคน

คุณสามารถค้นหาข้อมูลต่างๆ มากมายจากอินเตอร์เน็ตผ่าน search engine เช่น google แต่คุณไม่สามารถค้นหาข้อมูลของญาติตัวเองได้ ถ้าญาติคุณไม่ใช่บุคคลสาธารณะ ไม่มีใครบันทึกข้อมูลของพวกเขาไว้ในอินเตอร์เน็ต เนื่องจากพวกเขาไม่ใช่บุคคลที่มีชื่อเสียง ไม่ใช่บุคคลสำคัญระดับชาติ แต่พวกเขาทุกคนเป็นบุคคลสำคัญในครอบครัวของคุณ ถ้าคุณอยากมีข้อมูลของตัวเองอยู่ในอินเตอร์เน็ตเพื่อให้ลูกหลานได้ค้นคว้า คุณต้องสร้างฐานข้อมูลส่วนตัวของเครือญาติของคุณเอง

ผมแน่ใจว่าหลายครอบครัวประสบปัญหาเหมือนผม เพราะสังคมปัจจุบันเมื่อสมาชิกในครอบครัวแต่งงานจะแยกครอบครัวออกไป ไม่อยู่รวมกันเป็นกงสีเหมือนสมัยก่อน การแยกครอบครัวทำให้สมาชิกในเครือญาติมีโอกาสพบปะกันน้อยลง ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำมาหากิน โอกาสที่ทุกคนจะมาอยู่กันพร้อมหน้าเป็นไปได้ยากมาก มีเพียงงานแต่งงานหรืองานศพที่เหล่าญาติจะมารวมตัวกัน แต่ก็ไม่ได้มาครบทุกคน ในหนึ่งช่วงอายุคนมีโอกาสไปร่วมงานแบบนี้กี่ครั้ง ถ้าหวังจะให้ลูกหลานรุ่นที่เกิดใหม่มารู้จักญาติทุกคนในงานแบบนี้คงไม่มีโอกาสที่เครือญาติจะรู้จักกันทุกคน

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตซึ่งทุกคนสามารถติดต่อกันได้ทั่วโลก เราน่าจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ในการสร้างความใกล้ชิดให้แก่สมาชิกทุกคนในเครือญาติ ผมจึงเปิด BigFamilies เป็นเว็บแอพพลิเคชั่นสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้ามาลงทะเบียนใช้งานฟรี

ถ้าคุณมีอายุยืน 90 ปี เมื่อถึงตอนนั้น ทายาทในครอบครัวของคุณต่างแต่งงานมีลูกหลานเป็นหนุ่มสาวที่ใคร่อยากรู้เรื่องราวของบรรพบุรุษของพวกเขา แม้คุณยังมีชีวิตอยู่ แต่คุณไม่สามารถเล่าเรื่องราวของตัวเองให้ลูกหลานฟังได้อย่างถูกต้อง เพราะคนวัยนั้นความจำเสื่อมแล้ว คุณจะเล่าเรื่องราวของตัวเองแบบถูกๆผิดๆ

ดีกว่าไหมที่คุณจะเริ่มเล่าเรื่องราวของคุณตั้งแต่วันนี้ขณะที่ความจำของคุณยังสดใส โดยเล่าผ่านการบันทึกไว้ในไดอารี่ที่ BigFamilies รายละเอียดและภาพถ่ายที่คุณใส่ประกอบเรื่องราวที่เล่ามีความถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคุณเขียนไดอารี่ของคุณด้วยตัวเอง เมื่อถึงวัยที่คุณเริ่มหลงลืม สามารถกลับมาอ่านไดอารี่ของคุณเพื่อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านั้น และยังเป็นข้อมูลที่เป็นประโชน์แก่สมาชิกในครอบครัว สำหรับทำความรู้จักบรรพบุรุษของพวกเขา แม้บรรพบุรุษเหล่านั้นจะจากไปแล้ว อย่าปล่อยให้เรื่องราวดีๆในชีวิตคุณจากไปพร้อมกับชีวิตของคุณ เก็บเรื่องราวสำคัญเหล่านั้นไว้ที่นี่เพื่อเป็นตำนานของครอบครัวให้ลูกหลานภูมิใจ

ในหน้าแรกของ BigFamilies มีให้เลือก 2 ภาษา คือภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ทั้ง 2 ภาษาต่างใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน หมายถึงคุณสามารถลงทะเบียนด้วยภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ เมื่อคุณสร้างผังครอบครัวแล้ว ไม่ว่าจะ login ด้วยภาษาใด จะเห็นผังครอบครัวเดียวกัน

ทำไมต้องออกแบบให้มี 2 ภาษาใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน (ผังครอบครัวเดียวกัน) ?

สิ่งนี้เป็นการเตรียมการไว้สำหรับทายาทคนไทยที่ไปเกิดในต่างประเทศ เด็กรุ่นนั้นจะเขียนอ่านภาษาไทยไม่ได้ ปรากฏการณ์นี้เกิดจากประสบการณ์ของผมเอง ลูกหลานคนจีนที่เกิดในไทย(รวมตัวผมด้วย) ไม่สามารถเขียนอ่านภาษาจีน ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้ภาษาจีนในการติดต่อสื่อสารกับญาติในประเทศจีน ถ้าใช้ภาษาไทยพวกเขาก็ไม่เข้าใจ จึงจำเป็นที่ต้องใช้ภาษากลางซึ่งหนีไม่พ้นภาษาอังกฤษ

ลูกหลานคนไทยที่ไปเกิดในญี่ปุ่นมีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่สามารถอ่านเขียนภาษาไทย พวกเขาสามารถใช้ภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ ถ้าคนกลางที่เข้าใจทั้งภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่นจากไปแล้ว เด็กรุ่นถัดไปสามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยใช้ภาษาอังกฤษ ผ่านข้อมูลในผังครอบครัว ซึ่งมีทั้งที่อยู่ email เบอร์โทรศัพท์ และ line ID พวกเขาสามารถแนะนำตัวกันเอง ติดต่อไปมาหาสู่กันได้ โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง เพราะถึงเวลานั้นคนกลางจากไปหมดแล้ว ถ้าพวกเขายังคงปรับปรุง/เพิ่มเติมข้อมูลใน bigfamilies อย่างต่อเนื่อง ผังครอบครัวยังคงขยายต่อ ๆ ไปตามทายาทรุ่นใหม่ที่มารับช่วงต่อ ความสัมพันธ์ในเครือญาตินี้ก็จะคงอยู่ตลอดไป

สังคมแห่งการแบ่งปัน


Bigfamilies เป็นแอพพลิเคชั่นที่ผมพัฒนาขึ้นเพื่อแบ่งปันให้ทุกคนใช้งานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทุกคนสามารถนำข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวมาเก็บไว้ในฐานข้อมูลมากเท่าใดก็ได้ ผมตั้งใจจะเก็บข้อมูลของสมาชิกทุกคนไว้ในฐานข้อมูลที่นี่ตลอดไป การดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้แอพพลิเคชั่น Bigfamilies สามารถให้บริการได้นั้นมีค่าใช้จ่าย เนื่องจากไม่มีการก่อตั้งเป็นองค์กรเพื่อบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ผมจึงเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง

อย่างไรก็ดี หากคุณเห็นว่าแอพพลิเคชั่น Bigfamilies เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และคุณสามารถให้การสนับสนุนด้านการเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ผมขอขอบคุณ น้ำใจของคุณจะเกื้อกูลให้พวกเราอยู่ร่วมกันในสังคมแห่งการแบ่งปันอย่างอบอุ่น
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกรุงเทพสาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว 2
เลขที่บัญชี 087-7-23054-0 นายสมพงษ์ ฐิตะสมบูรณ์

ขอให้ความมีน้ำใจของคุณนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่คุณและครอบครัวตลอดไป


สมพงษ์ ฐิตะสมบูรณ์
โทร. 0869986810
email : sompong_thitasomboon@yahoo.com
แจ้งปัญหาการใช้งาน หรือเสนอแนะความคิดเห็น
จำนวนผู้ชม 11,585 จำนวนผู้ลงคะแนน 104 คะแนนเฉลี่ย 5



ห้องสอบเสมือนจริง

ทุกปีมีนักเรียนจำนวนมากผิดหวังกับการที่ไม่สามารถผ่านการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่ตัวเองมุ่งหวังไว้ แม้พวกเขาเตรียมสอบอย่างดี แต่เมื่อเข้าห้องสอบจริงพวกเขาตื่นเต้นกับการทำข้อสอบภายใต้เวลาที่จำกัด เกิดแรงกดดัน ทำให้ไม่มีสมาธิในการทำข้อสอบ จึงได้คะแนนสอบไม่ดีเท่าที่ควร หลายคนเพิ่งตระหนักว่าสิ่งนี้เป็นจุดอ่อนของตัวเองหลังจากลงสนามสอบแล้ว ซึ่งสายเกินกว่าจะกลับไปแก้ไข

ห้องสอบเสมือนจริง เป็นการจำลองห้องสอบให้นักเรียนเข้ามาฝึกทำข้อสอบจับเวลาเหมือนอยู่ในห้องสอบจริง นักเรียนจะได้รู้ตัวว่าเมื่อเข้าห้องสอบ ภายใต้เวลาที่จำกัด เขาสามารถทำคะแนนได้เท่าไร มีสิ่งใดบกพร่องที่ต้องปรับปรุง การฝึกทำข้อสอบหลายชุด ในบรรยากาศของห้องสอบจริงช่วยให้คุ้นเคยกับการสอบภายใต้แรงกดดันเรื่องเวลา

...คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียด...


สงวนลิขสิทธิ์ตามกฏหมาย 2558-2567 Copyright (C) All rights reserved.